6 สิงหาคม 2563
162
อัยการเสียงแตก! คดี “บอส อยู่วิทยา” ก.อ.ส่งหนังสือถึงอสส. 6 ปม ชี้ ‘เนตร นาคสุข’ ส่อสั่งคดีมิชอบ ด้าน “จรัญ” อดีตตุลาการศาล รธน. จี้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ตัดวงจรนักวิ่งเต้น-เป่าคดี
ขณะที่ 2 กมธ. สภาถกเดือด! “พีระพันธุ์” คาใจ 2 องค์กรพร้อมใจทำลายชื่อเสียงกระบวนการแลกแค่ 2 คน
กรณีมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อัยการเกี่ยวกับการแถลงผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะทำงานตรวจสอบการพิจารณาสั่งคดีนายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา ในคดีขับรถชนด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผบ.หมู่ปราบปราม สน.ทองหล่อเสียชีวิต โดยคณะทำงานฯ เห็นว่าการสั่งคดีของนายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง
ล่าสุดมีความเห็นมาจาก นายอรรถพล ใหญ่สว่าง ประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) กล่าวภายหลังสักการะท้าวสุรนารี จ.นครราชสีมา ซึ่งมีกลุ่มผู้ชุมนุมที่ออกมาเเสดงความเห็นข้อกังขากรณีดังกล่าวว่า กฎหมาย ป.วิอาญามีการเริ่มใช้ตั้งเเต่ พ.ศ. 2477 เเละมีระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยว่าด้วยการดำเนินคดีอาญา 2547 ยืนยันว่า เป็นกฎหมายที่ดีที่สุดในโลก การทำงานตามระเบียบดังกล่าวเปรียบเสมือนตราชู ส่วนที่กล่าวกันว่าตราชูเอียงตรงนี้ไม่ได้อยู่ที่ระบบ แต่ต้องไปดูตรงบุคลากรว่าได้สั่งคดีตามกฎหมายเเละระเบียบถูกต้องโดยชอบหรือไม่ ประธาน ก.อ.เปรียบเสมือนผู้คุมกฎขอชี้เเจงให้ประชาชนสบายใจว่าเราไม่มีการเเบ่งเเยกคนจน คนรวย
ส่วนการร้องขอความเป็นธรรมจำนวนหลายครั้งทั้งที่ร.ต.ต.พงษ์นิวัติ ยุทธภัณฑ์บริภาร อัยการสูงสุด (อสส.) ในขณะนั้นได้สั่งให้ยุติการพิจารณาแล้วดังนั้นต้องถือว่าคำสั่งฟ้องที่สั่งไว้มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย ดังนั้นกรณีที่นายเนตร นาคสุข รองอสส.มากลับความเห็น ทั้งที่อัยการสูงสุดได้วินิจฉัยไว้แล้วเเละให้ยุติกรณีร้องขอความเป็นธรรม คำสั่งดังกล่าวจึงอาจจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย
วันเดียวกันนายอรรถพล ยังทำหนังสือบันทึกข้อความถึง นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด เนื้อหาโดยสรุปว่า ในการร้องขอความเป็นธรรมหลายครั้งของนายวรยุทธอัยการสูงสุด (ร.ต.ต. พงษ์นิวัติ ยุทธภัณฑ์บริภาร) ได้สั่งให้ยุติการพิจารณาคำร้องขอความเป็นธรรมของผู้ต้องหา ดังนั้นต้องถือว่าคำสั่งฟ้องที่สั่งไว้มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย
การร้องความเป็นธรรมหลังจากที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งนั้น ผู้มีอำนาจพิจารณาดำเนินการมีเฉพาะอัยการสูงสุดเท่านั้น รองอัยการสูงสุดที่ได้รับมอบหมายหรือปฏิบัติราชการแทนไม่มีอำนาจสั่ง
“จรัญ” จี้ปฏิรูปตัดวงจร “นักวิ่งเต้น”
ด้านนายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่า กรณีที่เกิดขึ้นขณะนี้เกินขั้นตอนของคำว่าพยานหลักฐานใหม่ แต่จะต้องกลับไปเริ่มตรวจสอบใหม่ทั้งหมดเรื่องนี้มีความชัดเจนมาตั้งแต่ต้นว่า มีพิรุธมากมายของพยานหลักฐานเดิมที่เคยสั่งฟ้องไปแล้ว แต่ผ่านไป 8 ปีกลับตาลปัตรไม่สั่งฟ้องมีการนำพยานแปลกเข้ามา
“แต่ปัญหาที่อัยการไม่ได้แถลงไปถึงคือเราจะทำอย่างไรกับรู้รั่ว ทางหมาลอดใต้กระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้นให้เราเห็นเป็นครั้งคราว”
ประเด็นที่สองคือ คนที่บิดเบือนกระบวนการยุติธรรมในเรื่องนี้ ต้องรับผิดชอบถ้าเป็นเจ้าหน้าที่ในราชการต้องเจอข้อกล่าวหาทุจริตคอรัปชั่นใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ แม้จะเป็นพยานก็ต้องถูกดำเนินคดีฐานให้การเท็จ เช่นเดียวกับคนที่สร้างพยานหลักฐานเท็จที่ต้องถูกดำเนินคดี
ถัดมาคือการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญาอย่างจริงจังเพื่ออุดช่องโหว่และรู้รั่วที่มีอยู่มากมายและสกัดกั้นคนเกเรอย่างจริงจังอย่าให้แฝงตัวเป็นนักเป่าคดี นักวิ่งคดีอยงนี้อยู่ในกระบวนการยุติธรรม
ชงปปง.เช็คการเงินคนมีเอี่ยว
ขณะที่นายวิชา มหาคุณ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กล่าวยืนยันว่า ขณะนี้หมายจับของนายวรยุทธยังอยู่เนื่องจากตามที่ทางอัยการแถลงไปว่ามีข้อมูลใหม่เป็นเหตุให้ยังถอนหมายจับไม่ได้เนื่องจากคดียังไม่ยุติขอให้ประชาชนสบายใจ ส่วนหมายจับของตำรวจสากลหรืออินเตอร์โปลนั้น ยังไม่ชัดเจน ไม่สามารถแทรกแซงอะไรได้ แต่ของเราไม่มีการถอนหมายจับ
ทั้งนี้ทางคณะกรรมการฯจะได้ทำหนังสือขอสำนวนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งตำรวจอัยการและจากสำนวนจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ที่ดำเนินการไต่สวนและชี้มูลความผิดพนักงานสอบสวนที่ทำสำนวนคดีนี้ว่ามีความผิดวินัยไม่ร้ายแรง ใครที่มีข้อมูลหรือคับข้องใจสามารถส่งมาที่อีเมล์ของตนก่อนได้ที่[email protected]
ส่วนข้อสังเกตว่าเงินเป็นตัวแปรที่ทำให้คดีนี้ไม่ถูกสั่งฟ้องหรือไม่นั้น ทางสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.)จะต้องตรวจสอบให้ชัดเจนแต่ตอนนี้ยังเริ่มไม่ได้ติดขัดเพราะยังไม่เป็นคดีประพฤติมิชอบหรือเข้าข่ายต้องตรวจสอบด้านการเงิน
จ่อเชิญ“สธน-วิชาญ”ให้ข้อมูล
สาวนการเชิญบุคคชี้แจงนั้น ในวันที่ 6 ส.ค.นี้ นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด จะนำสำนวนที่อัยการตรวจสอบมาให้ถ้อยคำกับคณะทำงานตรวจสอบอัยการที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน ส่วนของคณะทำงานตรวจสอบบุคคลทั่วไปที่มีนายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นประธานจะเชิญนายสธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ อาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งเชี่ยวชาญด้านความเร็วรถมาให้ข้อมูลร วมถึงประเด็นสารโคเคนในร่างกายบอสจะเชิญพล.อ.ต.นพ.วิชาญ เบี้ยวนิ่ม หัวหน้าสาขาวิชานิติเวชวิทยาภาควิชาพยาธิวิทยาคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมาให้ข้อมูลด้วย
ส่วนความคืบหน้าคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีตำรวจสั่งไม่แย้งคำสั่งอัยการ มีพล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้รับผิดชอบดูแลการประชุม ยังไม่มีความชัดเจนกรณีของ พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วยผบ.ตร. ในฐานะผู้รับผิดชอบในการออกคำสั่งไม่เห็นแย้ง อีกยังมีการต้องเลื่อนแถลงสรุปผลการพิจารณาในวันที่ 5ส.ค.ออกไปก่อน เนื่องจากพล.ต.อ.ศตวรรษ หิรัญบูรณะ ที่ปรึกษาผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เข้าไปชี้แจงข้อมูลกับคณะกรรมาธิการ(กมธ.)สภาผู้แทนราษฎร
“2กมธ.” เรียกผู้เกี่ยวข้องชี้แจง
วันเดียวกันในการประชุมกมธ.กฎหมายฯ ร่วมกับ กมธ.กิจการศาล องค์กรอิสระฯ สภา ได้มีการมีการเชิญนายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุมอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญาธนบุรี นายประยุทธ เพชรคุณอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา และนายฤชา ไกรฤกษ์อธิบดีอัยการ เจ้าของสำนวน รวมถึงนายสายประสิทธิ์ เกิดนิยม อาจารย์มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้า พระนครเหนือ ที่ตรวจวัดความเร็วรถของ นายวรยุทธ 76 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มาชี้แจงข้อเท็จจริง
โดยนายเนตร ไม่ได้เดินทางมาชี้แจงต่อกมธ.
ส่วนนายประยุทธ กล่าวว่า การสั่งไม่ฟ้องของนายเนตรครั้งนี้ มีอำนาจตามกฎหมาย ซึ่งเหตุผลที่สั่งไม่ฟ้องเป็นไปตามพยานหลักฐานในสำนวน ซึ่งนายวรยุทธมีการร้องขอความเป็นธรรมอยู่หลายครั้ง
ส่วนนายสายประสิทธิ์ ยืนยันว่า เป็นการคำนวณตามหลักการ ทางวิชาการ โดยวิเคราะห์จากภาพที่เกิดขึ้น ตรวจสอบความเร็วจากหน้าปัดนาฬิกาที่โชว์บนคลิป และใช้สูตรปกติ ส่วนจะใช่หรือไม่ขึ้นอยู่ดุลพินิจของคณะกรรมาธิการการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สนช.
ด้านพล.ต.อ.ศตวรรษ กล่าวว่า โดยคำสั่งของผบ.ตร.กำหนดกรอบเวลาทำงาน 15 วันซึ่งภายในสัปดาห์หน้าจะครบ ทางคณะกรรมการฯจะรวบรวมข้อเท็จจริงในส่วนของตำรวจ โดยมีการวางกรอบ การทำงานเอาไว้แล้ว รวมถึงขั้นตอนที่ไม่เห็นแย้งของผู้ช่วยผบ.ตร. กรณีอัยการไม่ฟ้องคดีนี้ด้วย ซึ่งทั้งหมดอยู่ระหว่างการตรวจสอบ
อัด2หน่วยเอาชื่อเสียงป้องคนแค่2คน
ด้านนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาคที่ปรึกษากมธ.ฯกล่าวว่า คดีนี้มีสิ่งผิดปกติไปจากแบบแผนของการทำคดี การสอบสวน และการติดตามตัวผู้ต้องหาหลายอย่าง โดยเฉพาะความผิดปกติของพยานหลักฐานและพยานบุคคล ทั้งนี้ ประเด็นหลักอยู่ที่พนักงานสอบสวน และพนักงานอัยการที่ใช้ดุลยพินิจในการสั่งฟ้องหรือไม่สั่งฟ้อง ไม่มีใครตอบได้นอกจากคนทำ ทั้ง 2 ฝ่ายต้องออกมาชี้แจง
“ผมสงสัยว่าเพราะอะไรทั้ง 2 องค์กรถึงพร้อมใจกัน เอาชื่อเสียงเกียรติยศกระบวนการยุติธรรมของประเทศ มาเสี่ยงกับคนเพียงแค่ 2 คน แทนที่จะให้คน 2 สองคนนั้นมาชี้แจงกับสังคมเอง แต่กลับทำในสิ่งที่ท่านบอกว่าทำไม่ได้ ความเห็นส่วนตัวฟังไม่ได้ ในฐานะคนในวิชาชีพกฏหมาย ผมขอเถอะ อย่าทำให้สถาบันยุติธรรมของเราเสียหายไปมากกว่านี้ เอาเกียรติยศของผู้รักษากระบวนการยุติธรรมออกมา ใครผิดให้เขาผิดไป ใครถูกให้เขาชี้แจงเองไม่ใช่หน้าที่ของเราที่จะเอาความเห็นส่วนตัวมาชี้แจงแทนคนอื่น”นายพีระพันธุ์ กล่าว
ส่วนนายฤชา ชี้แจงว่า ในฐานะส่วนตัวความจริงพยานนิติวิทยาศาสตร์กรณีนี้บางครั้งอาจจะไม่จำเป็นที่จะต้องนำมาใช้ในกรณีนี้เลย เพราะจับรถด้วยความเร็วสูงก็เป็นการประมาทแล้ว.
August 06, 2020 at 07:20AM
https://ift.tt/3kk15Rx
อัยการ 'เสียงแตก' คดีบอส ชง อสส. ชี้ 'เนตร นาคสุข' ใช้อำนาจมิชอบ - กรุงเทพธุรกิจ
https://ift.tt/3eXcH9R
Bagikan Berita Ini
0 Response to "อัยการ 'เสียงแตก' คดีบอส ชง อสส. ชี้ 'เนตร นาคสุข' ใช้อำนาจมิชอบ - กรุงเทพธุรกิจ"
Post a Comment